‘กอล์ฟ ธัญญ์วาริน’เยือน มรส. เสวนาเสรีภาพกับหนังไทย
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดโครงการสัมมนาประสาคนทำหนัง ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้อง vdo Conferences อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีวิทยากรเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง คุณกอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่อง “แมลงรักในสวนหลังบ้าน”
ภาพยนตร์เรื่องแมลงรักในสวนหลังบ้าน หรือ Insects in the Backyard นี้ เคยถูกจัดเรตติ้งให้เป็นห้ามฉายในประเทศไทยมาเป็นเวลา 7 ปีเต็ม หลังการฉายรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์ไม่ผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลว่า มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากบางส่วนมีการนำเสนอภาพขององคชาต การร่วมเพศ และการค้าประเวณี จึงประกาศห้ามฉาย ต่อมาทางผู้กำกับได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์คณะใหญ่ แต่คณะกรรมการได้มีมติ 13 ต่อ 4 มิให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทยทุกกรณี นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของไทยที่ถูกห้ามฉายหลังจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พุทธศักราช 2551 มีผลบังคับใช้ ผู้กำกับได้ยื่นเรื่องไปยังศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในระยะเวลา 7 ปี ที่ต่อสู้เพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้จนสามารถได้ออกฉายในปี พ.ศ. 2560
โครงการนี้มีอาจารย์และนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 1-3 เข้าร่วมโครงการ อาจารย์จุฑาทิพย์ ฐิติสวัสดิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการได้ให้เหตุผลที่เชิญคุณธัญญ์วารินมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาในครั้งนี้ว่า ต้องการให้นักศึกษาเกิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเสพข่าวสารและสื่อบันเทิง ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับคนชายขอบที่แปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก อีกทั้งต้องการให้ตระหนักถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะหญิงชายตามอุดมการณ์กระแสหลัก แต่เราต้องอยู่ในสังคมเหมือนกัน ต้องยอมรับในสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน เท่าที่จัดโครงการนี้ก็นับว่าพอใจที่นักศึกษาได้ให้ความสนใจ โดยเฉพาะในช่วงวิเคราะห์ภาพยนตร์หลายคนสามารถตอบคำถามได้เป็นอย่างดี
ส่วนคุณกอล์ฟได้แชร์ประสบการณ์และเรื่องราวของตนเองว่า “พี่ไม่ได้เป็นคนที่เรียนนิเทศศาสตร์หรือเรียนด้านภาพยนตร์มา พี่จบเอกภาษา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ด้วยความที่ชอบและเคยเป็นนักแสดงในตอนเรียน จบมาก็มีโอกาสได้ทำงานด้านนี้ เคยช่วยเขียนบทพี่พจน์อานนท์ จนได้มาเป็นผู้กำกับเต็มตัวเรื่องแรก เรื่อง “ตายโหง” ผลงานของพี่ก็มีเยอะแยะมากมาย เช่น ฮักนะสารคาม ไม่ได้ขอให้มารัก (ได้รางวัลมาด้วย) ฟินสุโค้ย ล่าสุดเรื่อง “ปั๊มน้ำมัน” ได้รางวัลเขียนบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย
นอกจากนี้ได้ให้ความเห็นถึงเรื่องอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทย ว่าโซเชียลกำลังมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน อาจทำให้วงการภาพยนตร์ไทยแย่ เนื่องด้วยคนชอบดูหนังออนไลน์ที่ผิดกฎหมายกันมากกว่าที่จะไปดูในโรงภาพยนตร์ และตลาดโฮมวิดีโอที่เป็นรายได้ของผู้ผลิตหนังก็ตายลง จึงทำให้อนาคตของภาพยนตร์ไทยกำลังแย่ พี่กอล์ฟยังได้กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องแมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard) เป็นภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม เป็นภาพยนตร์อิสระในโครงการ Indy Spirit Project ของนิตยสารไบโอสโคป ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ 2010 และได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Dragons and Tigers Competition ต่อมาได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพ เนื้อเรื่องเป็นการเล่าชีวิตของตัวละครที่พบเจอประสบการณ์อันแปลกประหลาด ตัวละครในเรื่องประกอบด้วย พี่สาวคนโต ธัญญ่า ซึ่งเป็นสาวประเภทสอง วัย 35 ปี และน้องชายกับน้องสาวของเธอ จอห์นนี วัย 15 ปี และเจนนี่ วัย 17 ปี แต่ความจริงแล้วทั้ง2คนคือลูกของธัญญ่า โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่มีอคติต่อเพศที่3 จนเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวในครอบครัวนี้ขึ้น ลูก ๆ ไม่ยอมรับในตัวพ่อ เลยพยายามทำตัวเป็นปัญหา และสะท้อนสังคมในเรื่องของการค้าประเวณี แง่มุมที่พี่กอล์ฟต้องการให้ผู้ชมได้ดูคือ สื่อให้เห็นถึงความต้องการของคน ต้องการที่จะเป็น ต้องการที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ โดยมาลงกับผู้หญิงหรือผู้ชายค้าบริการ โดยเฉพาะแง่มุมที่นำเสนอถ่ายฉากธัญญ่าผ่านจากกรง ประตูรั้ว อยากให้มองว่าเหมือนชีวิตถูกตีกรอบไว้ กักขังความเป็นตัวตนจากสังคม
สำหรับการสัมมนาและชมภาพยนตร์เรื่องแมลงรักในสวนหลังบ้าน Insects in the backyard นี้ นักศึกษาได้รับข้อคิดดี ๆ จากผู้กำกับภาพยนตร์ และได้ทราบถึงที่มาของคำว่า “ภาพยนตร์” ข้อแตกต่างระหว่างภาพยนตร์กับละคร ทั้งนี้ยังได้มุมมอง แนวคิดและทัศนคติต่อเพศที่สาม หรือผู้หญิงข้ามเพศ รวมไปถึงสิทธิของเพศทางเลือกบนแผ่นฟิล์มและทราบเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ในทางที่เข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้พูดคุยถึงเรื่องราวประสบการณ์ 7 ปี ที่ผู้กำกับต้องต่อสู้กับการห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้และอนาคตทิศทางของภาพยนตร์ไทยในยุค 4.0 อีกด้วย เป็นประโยชน์โดยเฉพาะนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์เป็นอย่างมาก
นางณัฐรดา เทียมนคร และทีมฝ่ายประชาสัมพันธ์ รายงาน
นายณัฐพล หงวนบุญมาก และทีมฝ่ายถ่ายภาพ บันทึกภาพ